Categories
ข่าว

ครม.ไฟเขียว แผนก่อหนี้ใหม่ 1 ล้านล้านบาท

วันที่ 27 ก.ย. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท, แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท และ แผนการชำระหนี้วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท

โดยประมาณ 80% ของแผนการก่อหนี้ใหม่ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 เป็นเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น คมนาคม การศึกษาและวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม สาธารณูปการ และสาธารณสุข เป็นต้น โดยเป็นการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน

สำหรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การก่อหนี้ใหม่ โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องคงค้างให้เพียงพอกับการเบิกจ่าย วงเงิน 45,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ กฟผ. วงเงิน 85,000 ล้านบาท กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน

การกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกวงเงิน 16,210.90 ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าระยะที่ 2 (กฟภ.) วงเงิน 13,438.31 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างพอเพียงโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตอน สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน วงเงิน 9,352.89 ล้านบาท เป็นต้น

การบริหารหนี้เดิม ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และบริหารความเสี่ยงหนี้เดิม เช่น การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบ ฯ /เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้และการบริหารหนี้ ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 854,354.16 ล้านบาท และที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ 67-70 วงเงิน 225,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยความเสียหายให้กองทุน FIDF วงเงิน 202,663 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 วงเงิน 195,490.01 ล้านบาท เป็นต้น

การชำระหนี้ ประกอบด้วยแผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบปี 2566 วงเงิน 306,617.96 ล้านบาทและแผนการชำระหนี้จากและเงินอื่นๆ วงเงิน 53,561.72 ล้านบาท ในแผนงบ ฯ ปี 2566 นี้ ครม. อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจจำนวน 4 แห่งได้แก่ ขสมก. รฟท. การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิมได้ ภายใต้แผนปีงบ ฯ 2566

โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ต้องรับความคิดเห็นของคณะกรรมการบริหารหนี้ฯ ไปดำเนินการด้วย เช่น ขสมก. และ รฟท. ให้เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอสำหรับการชำระหนี้และเพื่อทำให้ฐานะทางการเงินของหน่วยงานดีขึ้น รวมทั้งให้รายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของรายงานต่อคณะกรรมการบริหารหนี้เพื่อทราบด้วย

การจัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปี 2566 ในครั้งนี้ อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่าประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบฯ 66 จะอยู่ที่ 60.43% ซึ่งไม่เกิน 70% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารหนี้ ฯ จัดทำแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี สำหรับปีงบฯ 2566-2570 เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารที่สาธารณะได้ระยะเวลา 5 ปี โดยมีโครงการลงทุนรวม 175 โครงการวงเงินลงทุนรวม 898,224.94 ล้านบาท โดยขอให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการและการลงทุนของโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการล่าช้าเพื่อเพิ่มการลงทุนของภาครัฐในระยะต่อไป