Categories
ข่าว

สุดยอดนวัตกรรม ‘มมส’พัฒนาแอพฯ สแกนเห็ดพิษ ช่วย‘รพ.สต.’ดูแลสุขภาพชุมชน

‘มมส’พัฒนาแอพฯสแกนเห็ดพิษช่วย‘รพ.สต.’ดูแลสุขภาพชุมชน – หลังจากที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามความร่วมมือ “การจัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ในประเทศไทยและการพัฒนา Application Mushroom Image Matching” เมื่อเดือนก.พ. 2562 วันนี้การพัฒนาโปรแกรม Application Mushroom Image Matching ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานแล้ว โดยได้รวบรวมภาพถ่ายของเห็ดทั้งเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้กลุ่มละ 1,000 ภาพ เก็บไว้ในฐานข้อมูลเพื่อใช้ประมวลผลด้วยโปรแกรมจดจำรูปภาพและแสดงผลชนิดของเห็ดด้วยชื่อและร้อยละของความถูกต้อง

นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.สิทธิพร ปานเม่น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ นางสาวเกษร บุญยรักษ์โยธิน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และ รศ.ขวัญเรือน นาคสุวรรณ์กุล ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ มมส ได้ทำงานประสานกันพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวจนสำเร็จพร้อมใช้งาน

ขวัญเรือน นาคสุวรรณ์กุล

รศ.ขวัญเรือน กล่าวว่า ระหว่างเดือนม.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษที่มาจากป่าธรรมชาติมากถึง 1,176 ราย เสียชีวิต 3 ราย ตัวอย่างเห็ดพิษจากหลากหลายแห่งถูกส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ตรัง สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ยะลา ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และสกลนคร เห็ดที่มีรายงานการเกิดเหตุ ได้แก่ เห็ดหมวกจีน เห็ดถ่านเลือด เห็ดระโงกพิษ และเห็ดคันร่ม
‘มมส’พัฒนาแอพฯสแกนเห็ดพิษช่วย‘รพ.สต.’ดูแลสุขภาพชุมชน

แอพฯสแกนเห็ดมีพิษ

เห็ดพิษเหล่านี้มีลักษณะรูปร่างหน้าตา หรือเรียกว่าลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายกับเห็ดรับประทานได้ เช่น เห็ดหมวกจีนคล้ายกับเห็ดปลวก (เห็ดโคน) เห็ดถ่านเลือดคล้ายกับเห็ดถ่านใหญ่ เห็ดระงากพิษคล้ายกับเห็ดระโงกขาวกินได้ เห็ดคันร่มพิษคล้ายกับเห็ดปลวกไก่น้อย เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษคล้ายกับเห็ดนกยูงกินได้ ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดและเก็บมารับประทานจึงได้รับสารพิษเข้าไป

สำหรับการใช้งานโปรแกรมดังกล่าวต้องดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งไว้บนโทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟนแบบแอนดรอยด์เท่านั้น โดยเข้าถึงแอพพลิเคชั่นได้ 2 ช่องทาง คือ 1.เลือกจากเพลย์สโตร์ ค้นหาคำว่า “คัดแยกเห็ดไทย” และ 2.สแกนคิวอาร์โค้ด จากนั้นลงทะเบียนและใช้งานโปรแกรมด้วยการเปิดกล้องและสแกนดอกเห็ดที่ต้องการทราบชนิด โปรแกรมเริ่มประมวลผลแบบเรียลไทม์ และหยุดเมื่อความถูกต้องของชนิดเท่ากับร้อยละ 95 หรือกดปุ่มเพื่อหยุดได้ นอกจากนี้ โปรแกรมนี้ยังสามารถตรวจสอบชนิดของเห็ดจากภาพถ่ายที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือได้เช่นกัน

โปรแกรมแอพพลิเคชั่นเวอร์ชั่นปัจจุบันมีฐานข้อมูลรูปภาพเห็ดเพื่อประมวลผลทั้งหมด 14 กลุ่ม ได้แก่ 1.เห็ดก่อและเห็ดน้ำหมากกินได้ 2.เห็ดผึ้งกินได้ 3.เห็ดระงากพิษ 4.เห็ดระโงกกินได้ 5.เห็ดระโงกไส้เดือน 6.เห็ดหมวกจีน 7.เห็ดคันร่มพิษ 8.เห็ดโคนกินได้ 9.เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษ 10.เห็ดบานค่ำ 11.น้ำหมึก 12.เห็ดถ่านใหญ่ 13.เห็ดถ่านเลือด และ 14.เห็ดกระโดงหรือเห็ดนกยูง (การสำรวจและบันทึกภาพเห็ดกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติมจะดำเนินการในโครงการเฟสต่อไปปีพ.ศ. 2563-2565) นอกจากข้อมูลภาพถ่ายแล้วในฐานข้อมูลได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมของเห็ดแต่ละชนิด เช่น ชื่อพื้นเมือง พิษที่พบในเห็ด อาการที่แสดงหลังจากได้รับสารพิษดังกล่าว เป็นต้น

ภายหลังจากพัฒนาแอพพลิเคชั่น คณะทำงานจัดอบรมการใช้โปรแกรมให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนเพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านและผู้สนใจใช้งานอย่างถูกต้อง โดยอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล และเครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชน จำนวน 4 แห่งในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือการศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของเห็ด เห็ดพิษและการเฝ้าระวังในชุมชนเพื่อประโยชน์ต่อการจำแนกลักษณะของเห็ดเบื้องต้นจำนวน 1 เล่ม

“โปรแกรมแอพพลิเคชั่นนี้เป็นเพียงเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจเลือกรับประทานเห็ด หรือเฝ้าระวังเห็ดพิษที่ได้จากป่าธรรมชาติเท่านั้น และสืบค้นข้อมูลเห็ดแต่ละชนิดในโปรแกรม เพื่อดูรายละเอียดให้มั่นใจอีกขั้นต่อไป” รศ.ขวัญเรือนกล่าวในที่สุด